เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนชะตาได้หรือ ?


คนยุคนี้อาจไม่เชื่อว่าโชคชะตาขึ้นอยู่กับฟ้าลิขิตกันแล้ว กลับไปมองว่าเพียงแค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้นก็สามารถพลิกผันชีวิตจากร้ายให้กลายเป็นดีได้ กระแสการเปลี่ยนชื่อจึงมาแรงสุด ๆ ส่งผลให้อาชีพหมอดูเปลี่ยนชื่อก็ผุดขึ้นตามไปด้วย หลายคนเชื่อว่าเปลี่ยนแล้วชีวิตดีขึ้น แต่บางคนเปลี่ยนชื่อแล้วก็กับเจอปัญหาใหม่มารุมเร้า อย่างไรก็ดีหมอดูหลายคนทักว่าแก้ชื่อได้ แต่กรรมแก้ไม่ได้

ยุคสมัยการตั้งชื่อ

การตั้งชื่อเริ่ม มีมาตั้งแต่มนุษย์เกิดแล้ว สังคมไทยโบราณนิยมตั้งชื่อสั้น ๆ เพียงพยางค์เดียว เป็นภาษาไทยแท้ ๆ ที่มีความหมายง่าย ๆ ฟังแล้วก็สามารถสื่อให้เข้าใจได้ทันที ผู้ที่ตั้งชื่อส่วนมากจะเป็นพ่อแม่ซึ่งตั้งชื่อให้กับลูกของตัวเอง หรือไม่เช่นนั้นก็ให้พระตั้งชื่อให้เพื่อความเป็นสิริมงคล
อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต และผู้เชี่ยวชาญด้านการตั้งชื่อมากว่า 30 ปี กล่าวถึงความนิยมในการตั้งชื่อของคนยุคก่อนอีกแง่มุมหนึ่งว่า

“ส่วนหนึ่งคนไทยจะมีความเชื่อในเรื่องภูตผี กลัวว่าเด็กเกิดใหม่นั้นผีจะเอาไปกิน อายุจะไม่ยืน เพราะคนสมัยก่อนส่วนมากเสียชีวิตตั้งแต่ตอนคลอด เนื่องจากสาธารณสุขยังไม่เจริญ เลยตั้งชื่อลูกหลานให้ฟังน่าเกลียดเข้าไว้เพราะผีจะได้ไม่เอาไปกิน เลยนิยมตั้งชื่อเป็นสัตว์ หรือดอกไม้ เพื่อหลอกผี ”
เมื่อสังคมเจริญขึ้นมา คนเริ่มมีการศึกษามากขึ้น การตั้งชื่อจึงเริ่มมีแนวความคิดและมีเหตุมีผลในเรื่องการตั้งชื่อมากขึ้น วิธีการตั้งชื่อจึงเริ่มมีความซับซ้อนตามไปด้วย และเริ่มมีการใช้หลักโหราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อ

ร.อ.ตะวัน ทักษณา อดีตนายทหารเรือที่ศึกษาศาสตร์แห่งการตั้งชื่อและลายเซ็นมาเป็นเวลากว่า 20 ปี เจ้าของนามปากกา “ตะวันณา” เคยกล่าวเกี่ยวกับเรื่องการตั้งชื่อโดยยกย่องให้ รัชกาลที่ 4 เป็นพระบิดาแห่งการตั้งชื่อ เนื่องจากพระองค์ทรงเก่งภาษาบาลีมาก เช่น พระนามของพระโอรสพระธิดาก็คล้องจองกัน คือ มเหศวร วรศิววิลาศ ,วิษณุนาถนิภาธร, สมรรัตน์สิริเชษฐ์, นเรศวรฤทธิ์ , พิชิตปรีชากร , อดิศรอุดมเดช, ภูธเรศธำรงศักดิ์ ,ประจักษ์ศิลปาคม , พรหมวรานุรักษ์ , ราชศักดิ์สโมสร ,ทิวากรวงศ์ประวัติ เป็นต้น

สอดคล้องกับ อ.เสฐียรพงษ์ ที่แสดงความเห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นมีการใช้ “หลักทักษา” ( หมายถึง การเรียกชื่อดวงดาวนพเคราะห์ทั้ง 8 ดวงด้วยกัน คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู และศุกร์ ) มาเกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีหลักว่าชื่อของผู้ชายควรใช้อักษรที่มีความหมายเป็น “เดช” นำหน้า หมายถึง ความเข้มแข็งน่าเคารพยำเกรง ส่วนผู้หญิงควรใช้อักษรที่เป็น “ศรี” หมายถึงความมีเสน่ห์ เป็นแม่ศรีเรือน รวมทั้งต้องดูว่าอักษรใดเป็น “กาลกิณี” หมายถึง ความวิบัติ โชคร้าย เป็นต้น

จากเดิมที่นิยมตั้งชื่อสั้น ๆ ฟังง่าย ๆ เช่น ดำ แดง ป้อม เอียด น้อย การตั้งชื่อในยุคต่อมาจึงกลายเป็นชื่อที่ยาวขึ้น มีความไพเราะสละสลวยมากขึ้นกว่าเดิม

ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการออนไลน์”เรื่องโดย ปาณี ชีวาภาคย์