พระราชบิดาแห่งอักษรไทย



กำเนิดแบบอักษรไทย

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ… พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ท่านผู้รู้นักประวัติศาสตร์หลายท่าน คาดกันว่า เริ่มจากแบบอักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรขอม อักษรขอมนี้นำมาเขียนภาษาบาลี สันสกฤตได้สะดวก แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเห็นว่าการนำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นไม่สะดวก เพราะไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำและมีสระน้อย ไม่เพียงพอจะเขียนภาษาไทยได้ตามต้องการ  พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขแบบอักษรเสียใหม่ให้เป็นลักษณะอักษรไทย (ซึ่งถ้าสังเกตถ้อยคำในศิลาจารึก จะเห็นคำว่า “นี้” อยู่ต่อคำว่า “ลายสือ” ทุกแห่ง คงจะมีความหมายว่าตัวอักษรแบบนี้ยังไม่เคยมี)   พระองค์ทรงแก้รูปตัวอักษรให้เขียนได้รวดเร็วกว่าอักษรขอม ทั้งสระและพยัญชนะก็จะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน

แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมิได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์รูปอักษรขึ้นโดยพระองค์เองก็ตาม (๑) การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรเสียใหม่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น นับเป็นการสำคัญ เป็นการพัฒนาต่อยอดทางความคิด คือ การนำภูมิความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิมในขณะนั้นมาพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ให้มีความสะดวกในการจารึกและอ่าน อีกทั้งเสียงที่ใช้นั้นก็มีความครบถ้วนตามลักษณะเสียงที่ใช้ในภาษาไทย  สิ่งนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นวิวัฒนาการ อันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางความรู้และวิทยาการในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง     แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพในเชิงภาษาศาสตร์และความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์

ครั้นล่วงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว จะเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีผู้แก้ไขกลับไปใช้คุณลักษณะบางอย่างตามแบบหนังสือขอม ซึ่งมีสระอยู่ข้างหน้าพยัญชนะบ้าง อยู่ข้างหลังพยัญชนะบ้าง อย่างเช่นใช้ในแบบหนังสือไทยมาจนทุกวันนี้

ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นขึ้นนี้ ได้มีผู้นำไปใช้กันแพร่หลายต่อไปในประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น  เช่น ในล้านช้าง ล้านนา และประเทศข้างฝ่ายใต้ของอาณาจักรสุโขทัย คือ กรุงศรีอยุธยา

ลักษณะของตัวอักษรไทย

สระ ๒๐ ตัว

พยัญชนะ ๓๙ ตัว

วรรณยุกต์ ๒ รูป ตัวเลข ๖ ตัว

ท่านผู้รู้บางท่านได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกนัยหนึ่งว่า จากการดูที่เหตุผลแวดล้อม พยัญชนะไทยน่าจะมีครบทั้ง ๔๔ ตัวตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว  ทางขอมได้ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นครู มีพยัญชนะจำนวน ๓๓ ตัวเท่ากับภาษาบาลี  พ่อขุนรามคำแหงได้แบบอย่างจากขอมและอินเดีย ครั้งแรกนั้นคงเป็นพยัญชนะ ๓๔ ตัว (ตัดนิคหิต ออก ๑ ตัว แต่พระองค์ได้นำมาใช้แทนตัว ม อย่างสันสกฤตและขอม) ต่อมาพระองค์อาจจะทรงคิดค้นเพิ่มเติมอีก ๑๐ ตัว ที่เรียกว่า “พยัญชนะเติม” เพื่อให้เสียงพอใช้ในภาษาไทย  พยัญชนะเติม

๑๐ ตัวคือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ    จะเห็นว่าพยัญชนะเหล่านี้ได้เพิ่มเข้ามาจากพยัญชนะวรรคมีเสียงที่พ้องกัน เช่น
ฃ พ้องเสียงกับ ข
ฅ พ้องเสียงกับ ค

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ตัวอักษรนี้คงออกเสียงเป็นคนละหน่วยเสียงกัน  แต่ ฃ กับ ฅ คงจะออกเสียงได้ยากกว่า เราจึงรักษาเอาไว้ไม่ได้ มีอันต้องสูญไปอย่างน่าเสียดาย (๒) เหตุผลคือ ถ้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงคิดเสียงซ้ำกัน  เช่นนั้น ฃ กับ ข และ ฅ กับ ค จึงน่าจะเป็นคนละหน่วยเสียงกันเช่นเดียวกับภาษาบาลี สันสกฤต ที่ออกเสียงพยัญชนะวรรคตะ ต่างกับเสียงพยัญชนะวรรคฏะ  แต่เมื่อเรารับเข้ามาใช้ เราออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ เราจึงออกเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ตัว ส,ษ,ศ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกเสียงต่างกันแต่เราออกเสียงเหมือนกันหมด  เสียงใดที่ออกยากย่อมสูญได้ง่าย

สิ่งที่น่าเป็นห่วง

ตามคำกล่าวข้างต้น เสียงที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน เช่น

เสียง “ร” เพราะออกเสียงได้ยากกว่าเสียง “ล”

นักเรียนในปัจจุบันมักจะออกเสียง “ร”ไม่ค่อยได้เพราะต้องกระดกลิ้น

เสียง “ท” ที่ปัจจุบันมีผู้นิยมออกเป็นเสียง “ธ”

ตามอย่างนักร้องที่มักออกเสียง “ท” เป็นเสียง “ธ”

ปัจจุบันนี้ เราหาผู้เชี่ยวชาญในการออกเสียงให้มีความชัดเจนแตกต่างจากกัน เพื่อเป็นผู้สอนการออกเสียงให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้ยาก  จึงเป็นที่น่าห่วงว่าหากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์การออกเสียงเหล่านี้เอาไว้ สักวันหนึ่งเสียงต่างๆ เหล่านี้อาจจะสูญไปได้เช่นเดียวกัน

 

(๑) หนังสือพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรวมเรื่องเมืองสุโขทัย กรมศิลปากร
(๒) เลิกใช้เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๗๐ ต่อมาเกิดพจนานุกรมฉบับ ปีพระพุทธศักราช ๑๓๙๓ จึงได้ประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการ

ที่มา : http://www.lib.ru.ac.th/pk/thaifont.html

ธนกร ช่อไม้ทอง : เรียบเรียง